ประโยชน์และโทษของ ดอกเบี้ยทบต้น สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอันดับที่ 8
บทความที่ผ่านมา เราได้มีการพูดถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้นกันไปบ้างแล้วเล็กน้อย เชื่อไหมครับว่า แม้แต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ยังกล่าวไว้ว่า พลังของดอกเบี้ยทบต้นนั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอันดับที่ 8 กันเลยทีเดียว หากใครเข้าใจเรื่องนี้และสามารถนำประโยชน์ของเรื่องนี้ไปใช้งานได้ ก็จะเป็นคุณอนันต์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากใครที่ถูกดอกเบี้ยทบต้นเล่นงานก็เปรียบได้เหมือนตกนรกทั้งเป็นกันเลยก็ว่าได้ เนื่องจากพลังของดอกเบี้ยทบต้นนั้นยิ่งใหญ่จริง ๆดอกเบี้ยทบต้นนั้น จริง ๆ แล้วเข้าใจได้ไม่ยาก หากเรียนรู้เรื่องของคณิตศาสตร์ น่าจะเคยได้ยินคำว่า Exponential กันมาบ้าง ดอกเบี้ยทบต้นเป็นเหมือนสมการ Exponential นั่นเอง จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยค่าของตัวเลขยกกำลัง แต่นั่นเป็นสิ่งที่ฟังดูแล้วอาจจะยากเกินไป เรามาอธิบายกันแบบง่าย ๆ ดีกว่าครับ
หากเราพูดถึงดอกเบี้ย เชื่อว่าใคร ๆ ก็สามารถที่จะคำนวณได้ง่าย ๆ เช่น ดอกเบี้ยร้อยละ 2 หรือดอกเบี้ย 10% ด้วยการกดเครื่องคิดเลข ก็จะได้คำตอบออกมาแล้ว เช่น มีเงิน 500,000 บาท ได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เท่ากับว่าได้รับดอกเบี้ย 10,000 บาท
แต่พลังของดอกเบี้ยทบต้นนั้นจะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราถอนเงินดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นนั้นไปใช้ ถ้าจะให้เกิดดอกเบี้ยทบต้น เราต้องไม่ถอนดอกเบี้ยออกมา และนำดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นนั้น รวมกับเงินต้นเดิม เพื่อเป็นเงินต้นใหม่ และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่จะเป็นผลจากเงินต้นที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ทบต้นกันไปเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่าง เช่น
- เงินต้นปีที่ 1 จำนวน 500,000 บาท ดอกเบี้ย 2% = 10,000 บาท สิ้นปีมีเงินรวม 510,000 บาท
- เงินต้นปีที่ 2 จำนวน 510,000 บาท ดอกเบี้ย 2% = 10,200 บาท สิ้นปีมีเงินรวม 520,200 บาท
- ไม่ถอนดอกเบี้ยแต่นำไปเป็นเงินต้นของปีต่อ ๆ ไป ผ่านไป 20 ปี เราจะมีเงินรวม 740,000 บาท
จากตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า เรามีเงินเพิ่มขึ้นมาอีก 240,000 บาท หรืออีกประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของเงินต้นที่เรามี โดยที่เราไม่ได้ฝากเงินเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพียงแค่ใช้ประโยชน์ของดอกเบี้ยทบต้นที่ 2% เท่านั้นเอง และหากเรามีความรู้ในเรื่องของการลงทุนเพิ่มเติม เราสามารถที่จะลงทุนและสร้างผลตอบแทนได้ที่ 5% เชื่อหรือไม่ว่า จากเงินต้นเท่าเดิม แต่ผลตอบแทนจะเปลี่ยนเป็น 1,300,000 บาทเลยทีเดียว
นอกจากการใช้วิธีคำนวณทีละปีทบต้นไปเรื่อย ๆ แล้วนั้น ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ใช้คำนวณแบบง่าย ๆ ว่าเงินของเราที่มีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ได้ในระยะเวลากี่ปี เรียกว่า ทฤษฎีเลข 72 คือ นำตัวเลข 72 หารด้วยอัตราผลตอบแทนที่ได้รับต่อปี
ยกตัวอย่าง เช่น
- เงินต้น 500,000 บาท ได้รับผลตอบแทนที่ 2%
- คำนวณโดย 72/2 = 36
- เพราะฉะนั้น เงินต้น 500,000 บาท จะเพิ่มเป็น 1,000,000 บาท ดอกเบี้ย 2% ต้องใช้เวลา 36 ปี
- หากได้รับผลตอบแทนที่ 5% คำนวณใหม่เป็น 72/5 = 14.4 ปี
- เงินต้น 500,000 บาท จะกลายเป็น 1,000,000 บาท ใช้เวลา 14.4 ปี นั่นเอง
นี่คือ พลังของดอกเบี้ยทบต้นและการคำนวณจำนวนปีที่เงินเราจะเพิ่มเป็น 2 เท่าด้วยกฎ 72 นั่นเองครับ จากตัวอย่างข้างต้น เราจะพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินของเรางอกเงยนั้นมีอยู่ด้วยกันหลัก ๆ 2 ปัจจัย นั่นคือ
- ระยะเวลา
- อัตราผลตอบแทน
เมื่อเรารู้ถึงหลักของความร่ำรวยจากดอกเบี้ยทบต้นแล้ว เราก็สามารถวางแผนได้ง่าย ๆ ด้วยการวิเคราะห์ตัวเราเองว่า เรามีระยะเวลามากพอหรือไม่ และเรามีความรู้ที่จะลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนที่มากพอหรือไม่ แค่นั้นเองครับ ยิ่งเราเริ่มต้นเร็ว เราก็เข้าใกล้เป้าหมายความร่ำรวยที่เรามุ่งหวังตั้งใจไว้ได้เร็ว เราต้องการมีเงินเก็บหลังเกษียณ 1 ล้านบาท เราก็แค่เริ่มต้นเก็บเงินเดือนละ 1,000 บาท ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาเป็นตัวเพิ่มเงินลงทุนให้เราแทน
คราวนี้เรามามองในมุมลบกันบ้าง จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นประโยชน์ของการใช้พลังของดอกเบี้ยทบต้นในด้านที่เราได้รับประโยชน์ แต่อีกมุมหนึ่งที่เราเสียประโยชน์ล่ะ คือ เราเป็นหนี้แบบดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง
ปัจจุบัน มีคนติดหนี้บัตรเครดิตเยอะมาก เนื่องจากสามารถดึงเงินอนาคตออกมาใช้ได้ง่าย ไม่ต้องไปอ้อนวอนใคร จึงทำให้คนเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงถึงร้อยละ 18 ต่อปี ยังไม่รวมค่าทวงถามและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อีก อาจสูงไปถึงร้อยละ 24 ต่อปีก็มี
เราลองใช้กฎ 72 มาคำนวณดูจะเห็นได้ว่า หากคิดแค่อัตราดอกเบี้ยที่ 18% เท่านั้น หนี้สินที่เรามีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปี เท่านั้นเอง และจะเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว หากเรายังไม่ปิดหนี้ให้หมดโดยเร็ว เพราะกราฟเป็น Exponential ฉะนั้น หากเรารู้ถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้นและเราเป็นหนี้อยู่ เราต้องตระหนักให้มากและปิดหนี้ให้เร็ว
ดอกเบี้ยไม่ได้หยุดทำงาน ดอกเบี้ยขยันทำงานทุกวัน เพียงแต่เราอยู่ในฝั่งที่ใช้มันทำงาน หรือฝั่งที่มันใช้เราทำงาน เท่านั้นเอง
ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนตัวเองว่า เราเหลือระยะเวลาในการหารายได้ในชีวิตนี้อีกเท่าไหร่ ถ้าระยะเวลาเหลือน้อย เราก็ต้องหาการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนให้แก่เรามาก ๆ เพื่อนำมาชดเชยกันแล้วไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ ลองกลับไปคำนวณด้วยตนเองกันนะครับ ไม่มีคำว่าช้าเกินไป หรือสายเกินไปแน่นอน รวย ๆ เฮง ๆ ครับผม
0 ความคิดเห็น