บริหารเงินง่าย ๆ ด้วยทฤษฏีขวดโหล 6 ใบ แบ่งเงินอย่างไรให้กลายเป็นเศรษฐี
การบริหารเงินแบบง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ บทความในวันนี้ เราจะพูดถึงเรื่องของการบริหารเงินด้วยการแบ่งเงินเป็นส่วน ๆ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การบริหารจัดการเงินเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องไกลตัว เพราะเรายังไม่รวยมากพอที่จะต้องบริหารเงินที่มี ลำพังเพียงแค่หากิน หาใช้ไปวัน ๆ ยังยากเลย จะเอาเงินที่ไหนมาบริหาร แล้วยังต้องศึกษาหาความรู้ ต้องเก่งเรื่องคำนวณตัวเลขด้วยหรือเปล่า
ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เลยครับ คนที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา จนมีฐานะทางการเงินดีขึ้นอย่างที่เราเห็นทั่วไป เขาเองก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ลำบากยากเย็นขนาดนั้นก็สามารถเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ การบริหารเงินด้วยการแบ่งเงินเป็นส่วน ๆ เป็นเรื่องที่เราควรเรียนรู้ และความรู้ทางการเงินก็ไม่ได้ยากอย่างที่เราคิดอีกด้วย
หลังจากที่เราตั้งเป้าหมายทางการเงินของตัวเองเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อมาที่เราจะต้องเรียนรู้ คือ เราจะบริหารเงินที่มีอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องกันเงินสำรองเท่าไหร่ และต้องทำอย่างไรเพื่อให้เงินเก็บที่มีงอกเงยให้ได้มากที่สุด
มิสเตอร์ ที ฮาฟ เอเคอร์ (T. Harv Eker) วิทยากรที่มากความสามารถและเป็นผู้เขียนหนังสือ ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน ซึ่งในปัจจุบัน ยังออกแบบหลักสูตรเผยแพร่วิธีคิดและเทคนิคการสร้างธุรกิจแบบก้าวกระโดด ได้นำเสนอทฤษฎีบริหารเงินแบบง่าย ๆ โดยวิธีคิดที่เขานำเสนอ เป็นการปรับ Mindset ทางการเงิน ด้วยการที่เราต้องเชื่อก่อนว่า เราสามารถที่จะร่ำรวยได้
ทฤษฎีง่ายๆ ในการบริหารจัดการเงินนี้ เรียกว่า ทฤษฎี 6 ขวดโหล (6 Jars System) คือ ให้แบ่งเงินออกเป็น 6 ส่วน เปรียบเสมือนการนำเงินไปใส่ในขวดโหล 6 ใบ แต่ละขวดโหลเอาไว้ใช้ทำอะไร หากไม่คิดว่าเป็นขวดโหล เราอาจมองเป็นกระปุกออมสิน หรือ แยกบัญชีธนาคารแทนก็ได้ ตามยุคสมัย เมื่อมีรายได้เข้ามา เราจะแบ่งเงินของเราออกเป็นส่วน ๆ ดังนี้
ขวดโหลใบที่ 1 ขวดโหลเพื่อสิ่งจำเป็น เราแบ่งเงิน 55% ของรายได้มาเก็บไว้ที่ส่วนนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าอาหาร ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน พยายามบริหารจัดการเงินให้ใช้จ่ายอยู่ในส่วนนี้แค่ 55% ของรายได้ที่มีให้ได้
ขวดโหลใบที่ 2 ขวดโหลเพื่อความมั่งคั่ง ส่วนนี้แบ่งจากรายได้มา 10% สำหรับนำไปต่อยอดเรื่องของการลงทุน สร้างอิสรภาพทางการเงินให้ตัวเองในอนาคต ในช่วงแรก ๆ ของการจัดสรรออกมานั้น อาจเป็นเงินก้อนเล็ก ๆ ให้เราเก็บรวบรวมจนเป็นเงินทุนที่มากขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยนำไปต่อยอดลงทุนก็ได้
ขวดโหลใบที่ 3 ขวดโหลเผื่อฉุกเฉิน ขวดโหลใบนี้ก็แบ่งออกมาอีก 10% ของรายได้ เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน คำว่าฉุกเฉิน คือ ในกรณีตกงานโดยไม่ทันตั้งตัว เจ็บป่วยกระทันหัน หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่บอกไม่กล่าว เราจะได้นำเงินก้อนนี้มาแก้ปัญหาได้ ตามทฤษฎีแล้ว เงินก้อนนี้เราควรมีไว้ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เราต้องใช้ในแต่ละเดือน เพื่อให้เราสามารถตั้งสติและตั้งตัวได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น แบบที่ไม่ลำบากมากนัก หากเก็บจนครบแล้ว เงินส่วนนี้สามารถกระจายไปใส่โหลอื่นแทนก็ได้ หรือขยับเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่มากขึ้นแทนก็ได้เช่นกัน
ขวดโหลใบที่ 4 ขวดโหลเพื่อตัวเอง ขวดโหลใบนี้ก็แบ่งออกมาอีก 10% ของรายได้ เงินส่วนนี้แบ่งไว้เพื่อให้รางวัลชีวิตแก่ตัวเอง กิน ท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง เป็นการชาร์จพลังให้กับตัวเอง เราทำงานมาเหนื่อยแล้ว เก็บเงินตามเป้าหมายแล้ว เงินส่วนนี้จึงเป็นเงินส่วนที่เราให้รางวัลตัวเองให้เต็มที่ ทำให้ตัวเราเองรู้สึกผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้ บางคนทำงานเก็บเงินอย่างเดียวจนตัวเองไม่มีความสุข ไม่เคยให้รางวัลชีวิตกับตัวเองเลย นั่นก็ตึงไปหน่อย
ขวดโหลใบที่ 5 ขวดโหลเพื่อพัฒนาตัวเองและสร้างคอนเนคชั่น ขวดโหลใบนี้ก็แบ่งออกมาอีก 10% ของรายได้ สิ่งสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่ง คือ อย่าลืมลงทุนกับตัวเองด้วย เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาตัวเราเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ เช่น ซื้อหนังสือ ลงคอร์สเรียนทักษะเสริมต่าง ๆ เรียนภาษา เรียนเขียนโปรแกรม โดยเฉพาะปัจจุบัน เทคโนโลยี AI กำลังก้าวเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้นด้วย คนที่มีฐานะการเงินที่ดี ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีรายได้ทางเดียว หากเรามีทักษะหรือความสามารถอื่น ๆ ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีในการสร้างรายได้หลายทางยิ่งขึ้น
ขวดโหลใบที่ 6 ขวดโหลเพื่อการแบ่งปัน โดยขวดโหลใบนี้แบ่งจากรายได้ 5% นำไปตอบแทนคืนสู่สังคม บริจาคหรือทำบุญ ทำทาน หรือทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นการเติมเต็มทางจิตใจให้เราได้ เพราะนอกจากเราจะเก็บเงิน ใช้เงินแล้ว สิ่งที่เราละเลยไม่ได้อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ สร้างความอิ่มเอมใจให้กับตัวเราเอง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของชีวิตมนุษย์เช่นกัน เราจะมีความสุขมากขึ้น ความปลื้มปิติใจเป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้
ในบทความนี้ เป็นการแบ่งเงินง่าย ๆ มีหลักการเพิ่มขึ้นมาจากบทความก่อนหน้านี้ มีการจัดสรรเป็นส่วน ๆ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้รู้ว่า เงินรายได้แต่ละส่วนนั้น มีความสำคัญอย่างไร พยายามแบ่งออกมาให้ได้เป็น 6 ส่วน ในช่วงแรก อาจจะอึดอัดบ้าง เพราะไม่พอใช้จ่ายตั้งแต่ขวดโหลแรกแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำให้ได้ แล้วเราจะจัดการชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้นในอนาคตครับ
0 ความคิดเห็น